วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

ระบบการศึกษาในอนาคต

ไม่นานมานี้ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดทำแผนระยะยาว 60 ปี โดยมีการสำรวจความคิดเห็นจากคนหลากหลายสาขาถึงภาพของมหาลัยในอนาคต

มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย จนกระทั่งตอนนี้ผมเข้าใจว่าคงได้แผนนั้นแล้ว ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะเท่าที่ทราบ มันไม่มีในสิ่งที่มหาวิทยาลัยในอนาคตควรจะมีครับ

มหาวิทยาลัย คือ สถาบันการศึกษา เราไม่ใช่ดีแทค ไม่ใช่ทรูมูฟ ไม่ใช่ซีพี ผมเห็นผู้บริหารหลายคนเข้าใจผิดในเรื่องนี้อย่างมาก อาจเป็นไปได้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นไปอ่านหนังสือเจอหรือได้เข้าอบรมการบริหารโดยได้วิทยากรของเอกชนมาบรรยาย ทัศนคติจึงกลายเป็นแบบนั้นไปหมด

เราคือสถาบันการศึกษา มีหน้าที่ผลิตประชาชนให้มีความรู้ นี่แหละคือคีย์พ้อยท์ที่เราลืมกัน

สถาบันการศึกษานะครับ จะดูว่าดีหรือไม่ดี ไม่ได้ดูที่ระบบการจัดการองค์กร ไม่ได้ดูที่ระบบHR ไม่ได้ดูที่ระบบKMในองค์กร แต่ดูที่คนที่จบออกมามีคุณภาพหรือเปล่า

ปัจจุบันผมเห็นหน่วยงานการศึกษามากมายที่ตื่นตัวกับระบบการบริหารจัดการ มีการนำเอาการจัดการความรู้ ระบบโบนัส ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล......ฯลฯ เอาเข้ามาใช้แล้วก็ marketing กันตรงนั้นแหละว่าฉันเนี่ย เป็นหน่วยงานที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองอย่างนู้นอย่างนี้

ครับ ผมไม่เห็นมีใครพูดถึงบัณฑิตที่จบซักคนว่ามีความรู้แค่ไหน และที่สำคัญกว่านั้นคือ ความรู้ที่มีน่ะเอาไปใช้ได้มั้ย

(อันนี้แถมนะครับ : คือราชการน่ะต่อให้เอาระบบการจัดการแบบเอกชนมาใช้ยังง มันก็ไม่มีทางเป็น HPO ได้หรอกครับ สาเหตุง่ายๆครับ เงินเดือนไงครับ ปัดโธ่ คุณให้เงินเดือนคนแค่7000กว่าบาท คุณจะเอาอะไรนักหนา คนเรามันต้องกินข้าวนะครับ ในสมัยก่อนที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ10บาทน่ะไม่มีปัญหาหรอก แต่ตอนนี้ชามละ30แล้วนะครับ ที่คนเก่งมันไปอยู่เอกชนหมดเพราะเอกชนเค้าเลี้ยงดีครับ เค้าไม่งกเงินเหมือนราชการครับ ถ้าคุณต้องการผลงานเหมือนเอกชน กรุณาให้คุณภาพชีวิตพนักงานเหมือนเอกชนด้วยครับ)

กลับมาที่เรื่องระบบการศึกษากันต่อ

เรื่องการนำความรู้ไปใช้นี่สำคัญมาก ทุกวันนี้เราผลิตคนที่มีความรู้เยอะครับ เยอะมาก เดินกันเต็มถนนไปหมด แต่สงสัยมั้ยครับว่าทั้งๆที่คนมีความรู้เยอะขนาดนี้ ทำไมประเทศเรายังไม่พัฒนาซักที

คำตอบ เพราะการศึกษาเราไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ.........เลย

ผมถามหน่อย ไอ้ที่เรียนๆกันมาเนี่ย เรียนไปทำไมครับ เรียนเพื่อเอาไปใช้ทั้งนั้น แล้วทำไมครับ ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ล่ะครับ ไปให้ความสำคัญกับความรู้อย่างเดียวได้ไง

ผมได้รู้เกี่ยวกับพลังของการปฏิบัติครั้งแรกจากเพื่อนของเฮียผม คือเพื่อนเฮียผมชื่อไก่ จบปวส.ธรรมดานี่แหละ สาขาย้อมผ้า ปัจจุบันทำงานอยู่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการในตำแหน่งหัวหน้า คุมลูกน้องเป็นร้อย และที่สำคัญ ลูกน้องแกส่วนมากเป็นเด็กจบโททั้งนั้น

เรื่องนี้ทำให้ผมประหลาดใจมาก เฮ้ย ได้ไงวะ จบปวส.แม่งเป็นหัวหน้าป.โท

หลังจากนั้นไม่นานผมได้คุยกับเจ้าของโรงงานอีกแห่งชื่อ เจ่กเส่ง แกบอกผมว่ามันเรื่องธรรมดาไม่เห็นน่าแปลก

" เจ่กไม่เคยสนใจหรอกว่าใครมันจะจบอะไรเก่งแค่ไหน ขอแค่มันทำงานให้เราได้ดีก็พอ "

ครับ สำหรับพี่ไก่ ผมก็ทราบมาว่าแกเก๋าจริงๆ มีครั้งนึงเครื่องจักรหยุดทำงาน พวกวิศวะกรที่จบโทมานั่งแก้กับเกือบสิบคนแก้ไม่ได้ นั่งเหงื่อแตกกันอยู่ พี่ไก่แกทำประมาณ20นาทีเครื่องก็ติด เรื่องของเรื่องคือเครื่องจักรมันไม่เสีย แต่วันๆมันปั่นผ้าเยอะทำให้มีผ้าเข้าไปติด พอติดเครื่องมันก็ทำงานไม่ได้ แกแค่เอาที่คีบถ่านมาคีบออกไปแค่นั้นเอง!!!

เรื่องนี้ทำให้ผมสะดุดคิด มันรู้สึกแปลกๆครับ แม่ง เรียนถึงป.โททำไมเรื่องค่นี้แก้ไม่ได้ แต่เอาล่ะ ไม่เป็นไร

ต่อมา หม่ำ จกม๊ก ทำหนังเรื่องบอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยมและแหยม ยโสธร ได้100ล้านทั้งสองเรื่อง ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนต์คุณภาพดี เอ๊....หม่ำมันเป็นตลกคาเฟ่นี่หว่า มันไม่เคยเรียนการกำกับหนังเลยนี่ แต่มันทำได้100ล้านสองเรื่อง ครับ อย่าว่าแต่ป.โท พวกจบทำหนังป.เอกมีใครทำแบบมันได้บ้าง

สองเรื่องนี้วนเวียนอยู่ในหัวผมเรื่อยมา มันหมายความว่ายังไงที่คนที่การศึกษาดีกว่า จบสูงกว่า แต่ทำงานสู้คนจบต่ำกว่าไม่ได้

สุดท้ายผมก็เข้าใจ ว่าระบบการศึกษาของเรา ไม่ได้สนับสนุนให้คนทำเป็น

และนี่ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่า ควรจะเป็นระบบการศึกษาในอนาคตของจริง

ในอนาคต ปริญญากิตติมศักดิ์ต้องให้ง่ายกว่านี้ครับ ทุกวันนี้เราให้ปริญญากิตติมศักดิ์เหมือนแจกซิมมือถือ ให้ไปงั้นๆแหละ เป็นการเชิดชูเกียรติ บอกได้คำเดียวสั้นๆครับ โหลยโท่ยโคตร

คนที่เก่งจริง เป็นที่ยอมรับในการทำงาน สมควรได้ปริญญาโดยไม่ต้องไปเข้าเรียน เช่น บรรดาปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น (กับเรื่องนี้ผมมีเกร็ดตลกๆมาเล่า เคยมีแนวคิดจากรัฐบาลว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าใครสมควรเป็นปราชญ์ชาวบ้าน อ่านข่าวนี้จบผมหัวเราะก๊าก ไอ้คนคิดนี่มันควรไปไถนาที่สุด ปราชญ์ชาวบ้านนะครับ ต้องเป็นคนที่ชาวบ้านเค้ายอมรับว่ามีความสามารถ มีคุณค่า พูดง่ายๆคือเป็นที่ยอมรับเองในชุมชน คุณไปเอาคนอื่นมาตัดสินได้ไง )


แต่แน่นอนครับว่า อาจจะมีกลั่นกรอง เช่น คนที่จะได้ต้องมีผลงานเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร แต่การกลั่นกรองต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าต้องมีผลงานระดับชาติ พวกนี้เวอร์ครับ จะทำอะไรให้มันอยู่บนฐานของความจริงครับ

ใครที่กำลังจะแย้งช่วยบอกผมหน่อยนะครับว่า ไอ้พวกที่จบโทมาน่ะ นอกจากงานวิจัยที่ไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว เค้ามีผลงานอะไรอีกบ้าง เค้าได้แสดงอะไรบ้างว่าเค้ามีฝีมือ ไม่มีเลย งานวิจัยเป็นแค่เครื่องแสดงว่าคุณมีความรู้ แต่มันไม่ได้บอกเลยว่า เวลาปฏิบัติงานจริงคุณเจ๋งแค่ไหน คุณอาจจะรู้จักส่วนประกอบของเครื่องยนต์ทุกชิ้น อธิบายได้หมด แต่เอาจริงๆคุณซ่อมมันไม่ได้ เพื่ออะไรครับ เกิดประโยชน์อะไร ตอบผมสิครับ

มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่ผลิตปัญญาชนควรจะตระหนักถึงข้อนี้ เราควรสนับสนุนให้คนที่มีความสามารถจริงๆได้รับปริญญา เพื่อเป็นการแสดงว่า มหาวิทยาลัยมีกึ่นพอที่จะรู้ว่าคนนี้เก่งจริง สามารถการันตีคนที่มีคุณภาพออกมาให้สังคม ไม่ใช่ผลิตคนที่ดีแต่ปากออกมาเต็มบ้านเมือง นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยในอนาคตควรจะกระทำ

และถ้าทำแบบนี้ได้ คนเราจะเริ่มเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของปริญญา เช่น โห ไอ้นี่ได้กิตติมศักดิ์สาขาภาษาอังกฤษเว้ย แม่ง ไม่ต้องเรียนก็ได้ปริญญาแสดงว่าเก๋ามาก ต่อจากนั้นช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในระบบการศึกษาจะหมดไป ไม่ต้องมีเงินก็สามารถมีสิ่งยืนยันได้ว่าเก่งไม่แพ้คนที่เรียนตามหลักสูตร ทุกคนก็จะไม่ต้องทำงานงกๆส่งลูกเรียน แต่จะเน้นเรื่องความสามารถกันมากขึ้น แล้วยังไงต่อเหรอครับ คนเรามันแข่งกันเก่งประเทศก็เจริญสิครับ

ปริญญาบัตรควรเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถ อย่าทำให้ปริญญากลายเป็นซิมมือถือเลยครับ